ช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถออมเงินไว้ใช้ในระยะยาวหลังเกษียณกันได้ โดยไม่ต้องมานั่งอิจฉาพนักงานประจำทำงานกินเงินเดือน ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคอยคุ้มครองอีกต่อไป แถมสิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆ ก็ใกล้เคียงอีกต่างหาก
จริง ๆ แล้วกองทุน กอช. นี้ จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ยาวนานกว่า 4 ปีแล้ว แต่น่าเสียดายที่ยังมีหลายคนที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้พลาดโอกาสการออมดี ๆ ไป ทั้ง ๆ ที่รัฐฯ เปิดสิทธิ์ให้กับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ หรือข้าราชการประจำ ที่เป็นสมาชิกของ กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) เข้ามาสมัครกับภาครัฐได้
ซึ่งอาชีพที่พูดถึงนี้ ได้แก่ อาชีพค้าขาย, ฟรีแลนซ์ (อาชีพอิสระ), รับจ้าง, เกษตรกร รวมไปถึง กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครหมู่บ้าน ไม่เว้นแม้กระทั่ง นักเรียน, นักศึกษา ก็สมัครได้เช่นกัน
เรามาลองดูเงื่อนไข ของกองทุนนี้กันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง
- กองทุน กอช. เปิดโอกาสคุณเริ่มต้นเก็บเงินได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ กันเลยทีเดียว โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี ไปจนกระทั่งอายุ 60 ปี กันเลยทีเดียว
- ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นไปตามข้อกำหนดเท่านั้น ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำที่มีบำเหน็จบำนาญหรือเป็นสมาชิก กบข. รวมถึงพนักงานบริษัทขององค์กรเอกชนต่าง ๆ หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจก็หมดสิทธิ์ค่ะ
- คุณต้องส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 1,200 บาท และส่งได้สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฝาก ยิ่งออมเยอะ ก็มีสิทธิ์จะได้รับเงินสมทบเยอะนั่นเองค่ะ
- รัฐฯ จะให้เงินสมทบตามช่วงอายุ เช่น อายุ 15-30 ปี จะได้รับเงินสมทบ 600 บาท , มากกว่า 30 -50 ปี ได้รับเงินสมทบ 960 บาท และมากกว่า 50-60 ปี ได้รับเงินสมทบ 1,200 บาท ตามลำดับ ขอแอบกระซิบว่า มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำหลายเท่าเลยทีเดียว
- ในกรณีที่คุณต้องจ่ายภาษี สามารถนำเงินออมเต็มจำนวนในปีนั้น ๆ ไปยื่นต่อกรมสรรพากรเพื่อหักลดหย่อนได้ค่ะ
- เมื่อคุณส่งออมจนกระทั่งอายุครบ 60 ปี คุณจะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่คุณส่ง เงินสะสมที่คุณมีอยู่ในกองทุน ยิ่งมากก็ยิ่งดีในอนาคต
- รัฐฯ จะนำเงินออมที่คุณส่งไปทุกเดือน ๆ ไปทำการกระจาย แบ่งลงในหน่วยลงทุนต่าง ๆ ที่เล็งเห็นแล้วว่าจะได้กำไรอย่างแน่นอน
หน่วยลงทุนที่ว่านี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้, เงินฝาก รวมถึงตราสารหุ้น หรืออื่น ๆ ที่คาดว่าจะได้ผลกำไร เพื่อนำกลับมาเป็นผลตอบแทนในแต่ละปีให้กับคุณค่ะ
- ในกรณีที่คุณส่งออมไม่ถึงอายุ 60 และคุณลาออกจากกองทุนไปก่อน คุณจะไม่ได้รับเงินบำนาญ และเงินสมทบ (เพราะไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด) แต่จะได้รับกลับไปเป็นเงินก้อนในส่วนของเงินออมและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
- สะสมมาตั้งนาน คุณจะได้รับประโชน์เมื่อไหร่? ผลประโยชน์ที่คุณจะได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คุณก็จะได้รับเป็นเงินบำนาญคืนกลับมาให้กับคุณในทุก ๆ ปี เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องขอลูกขอหลานเป็นภาระของคนอื่นเลยทีเดียว
หรือหากคุณเสียชีวิตลง ก็จะได้เงินสะสม บวกเพิ่มกับเงินสมทบ และบวกเพิ่มเข้าไปอีกกับผลตอบแทน แล้วจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์เป็นก้อนเดียว นั่นเองค่ะ
เห็นมั้ยคะ แม้คุณจะทำอาชีพอิสระ ไม่ได้กินเงินเดือนเหมือนใครเขา ก็มีโอกาสออมเงินได้แถมได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วยนะเออ เอาเป็นว่าโครงการนี้น่าสนใจไม่น้อย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรไปได้ที่ “สายด่วน เงินออม” 02-049 9000 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ Website กองทุนการออมแห่งชาติ www.nsf.or.th ค่ะ