การบริหารการเงินที่ดีคือการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ เช่นการบริหารรายรับรายจ่าย การจัดการหนี้สิน เป็นการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
รู้จักสถานการเงินของตัวเองก่อน
ข้อแรกก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า เรามีรายได้จากทางไหนบ้างนอกจากเงินเดือนประจำที่เราได้รับจากงานประจำ รวมรายได้ทั้งหมดต่อเดือนเท่าไรจากนั้นก็มาดูค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายประจำเดือน แยกเป็นอะไรบ้าง โดยการจดบัญชีรายรับ และรายจ่ายที่มีในแต่ละเดือน เพื่อคำนวณความสามารถในการออมของเรา ทำการจดบันทึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน แยกค่าใช้จ่ายจำเป็นและไม่จำเป็นออกจากกัน เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือค่าบัตรเครดิต หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง หรือค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ จะทำให้เรารู้ว่าเราควรปรับเปลี่ยนการใช้เงินของเราอย่างไร เพื่อจะเพิ่มเงินออมของเรา ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ยิ่งถ้าหากเงินไม่พอใช้สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือลองลดค่าใช้จ่ายที่ลดได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารอาจจะเปลี่ยนเป็นห่ออาหารจากบ้านไปกิน หรือเปลี่ยนร้านกิน หาร้านที่ไม่หรูมากราคาประหยัดก็จะช่วยได้
ลดภาระหนี้
เมื่อเราทราบถึงรายรับรายจ่ายของเราแล้ว ประเมินออกมาแล้วสิ่งไหนควรเพิ่มสิ่งไหนควรลด เพิ่มยอดเงินออม และลดภาระหนี้ หากประเมินค่าใช้จ่ายที่มีในแต่ละเดือนแล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่การชำระหนี้สิน เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารถ หรือค่าบัตรเครดิต คุณอาจลองคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน และดอกเบี้ยรวมกัน คุณอาจวางแผนลดภาระเหล่านี้ เช่น การรีไฟแนนซ์ (Refinance) มองหาสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำบวกลบกันแล้ว ถูกกว่าของเดิมรวมถึงดูรายละเอียดต่าง ๆ หากมันเป็นประโยชน์กับเรา ก็สามารถจัดการได้เลย
เพิ่มรายได้จากการลงทุน
การเพิ่มรายได้จากเงินออมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน เช่น การซื้อสลากต่าง ๆ ประกันแบบออมทรัพย์ ตราสารทางการเงินต่าง ๆ หรือกองทุนรวม เป็นต้น
วางแผนการเสียภาษี
หากคุณเป็นผู้มีเงินได้ที่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี อย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษี เพราะสิทธิประโยชน์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยลดรายจ่าย การทำประกันสังคมนำเงินส่งประกันสังคมก็เป็นการออมเพื่อลดหย่อนภาษี และเพิ่มเงินออมของคุณอีกทางหนึ่ง รวมทั้งคุณยังได้รับสิทธิประโยชน์ดี ๆ จากภาครัฐ
สมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกกองทุนหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้คงหนีไม่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ละองค์กรจะมีอัตราขั้นต่ำให้สมทบ และแบบเต็มอัตรา ดังนั้นแนะนำให้ทำแบบเต็มอัตราไปเลย เพราะหากเมื่อเราเกษียณ เราจะมีเงินจากกองทุนตรงนี้เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
ซื้อประกันชีวิตไว้บ้าง
ประกันชีวิต คือ การป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด หากคุณมีคนที่อยู่ข้างหลัง หรือมีภาระ การทำประกันชีวิตคือทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง แถมยังลดภาษีได้อีกด้วย และควรทำประกันแบบออมทรัพย์ นอกจากจะได้ความคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังเป็นการเก็บเงินไปในตัวอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าเราสามารถเก็บเงินบริหารเงินได้หลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่เราไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าที่วางไว้นั่นเป็นเพราะ เรายังมีความโลภ อยากได้อยากมีไม่มีที่สิ้นสุด พอเราได้มาแล้ว เรามักจะบอกกับตัวเองว่าพอแล้วไม่ซื้อแล้ว พอมีคอลเลคชั่นมาใหม่เราก็อยากได้อีก มีความอยากมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็จะขยับยอดรายจ่ายเราขึ้นตามไป แต่ถ้าเราเอาชนะความอยาก ความโลภตัวเองของตัวเองได้เราก็จะมีเงินเก็บตามเป้า