เนื่องด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันกับสังคมที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ผู้คนจึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเมื่อก่อนอยู่มาก ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนไป ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจเราที่ต้องปรับตัวไปกับสภาพแวดล้อม บางคนต้องทำงานไม่เป็นเวลา บางคนอาจทำงานดึกตื่นเช้า บางคนบางอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ เวลานอนอาจสลับกัน นอนในตอนกลางวัน ทำงานตอนกลางคืน และกลไกการทำงานของร่างกายแต่ละช่วงวัยแต่ละอายุ จะทำงานไม่เหมือนกัน แต่ละคนแต่ละช่วงวัยความต้องการในการพักผ่อน การนอนหลับไม่เท่ากัน เช่น
- เด็กแรกเกิดต้องการนอนหลับพักผ่อน 14-17 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 1 ปีต้องการนอนหลับพักผ่อน: 14 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 2 ปีต้องการนอนหลับพักผ่อน: 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 3-5 ปีต้องการนอนหลับพักผ่อน: 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 6-13 ปีต้องการนอนหลับพักผ่อน: 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 14-17 ปีต้องการนอนหลับพักผ่อน: 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ใหญ่ต้องการนอนหลับพักผ่อน: 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
ดังนั้นอาจทำให้หลาย ๆ คนต้องเผชิญกับปัญหาการนอนไม่หลับ ซึ่งนอนไม่หลับเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางร่างกาย ปัจจัยทางจิตใจ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน
ปัจจัยภายนอก
อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมสิ่งรบกวนภายนอก ที่ไม่เหมาะสมทำให้รบกวนการนอน มี เช่น เสียงดังรบกวน แสงที่สว่างจ้า และการรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ที่มากจนรบกวนสภาวะผ่อนคลายก่อนการนอนหลับ
ปัจจัยทางด้านร่างกาย
เกิดจากที่ร่างกายเราเองเช่นอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง หรือโรคการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ หรือเป็นแผลเจ็บปวดทำให้นอนไม่หลับ โรคกระเพาะอาหาร และการกรนขณะนอนหลับก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สัมพันธ์ต่ออาการนอนไม่หลับ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะหยุดหายใจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และตื่นขึ้นมาเรื่อย ๆในขณะนอนหลับ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการเกร็งและการกระตุก อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นกลางดึก นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่หลับอีกเลยได้
ปัจจัยทางด้านจิตใจ
อาจเกิดจากความเครียดเรื่องงาน ปัญหาชีวิต มีวิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ ดีใจ หรือตื่นเต้นประหม่าเกิดเป็นความเครียด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนอนหลับตามปกติได้ มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา
หากการนอนไม่หลับของคุณกินระยะเวลานานกว่า 1 เดือน แน่นอนอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงานของคุณในเวลากลางวัน คุณควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาคุณต้องแจ้งประวัติความเจ็บป่วย ให้กับแพทย์ทราบ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคนอนไม่หลับ
- อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นอาจทำร่างกายอ่อนล้าในตอนกลางวัน ทำอะไรเฉื่อยชา ระบบความจำมีปัญหาหลง ๆ ลืม ทำให้เรียนหรือทำงานอย่างขาดประสิทธิภาพ ยิ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นต้องรีบรักษาเพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้หากวันไหนเกิดวูบขึ้นมาขณะทำงานบนเครื่องจักรอาจอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- ทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานภายในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเกิดภาวะอ้วนตามมา
- หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเรื้อรังได้ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
การป้องกันอาการนอนไม่หลับ
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายก่อนนอนเช่น รับประทานของว่างเบาๆ หรืออ่านหนังสือ ไม่เข้านอนจนกว่าคุณจะรู้สึกง่วงนอนถ้าคุณนอนไม่หลับ
- ตื่นนอนในเวลาเดิมทุกเช้าทำให้สม่ำเสมอทั้งในวันที่ทำงานและวันหยุด เพราะจะช่วยให้กลไกการทำงานเป็นระบบพยายามหลีกเลี่ยงการงีบช่วงกลางวันถ้าคุณงีบหลับพยายามงีบให้น้อยที่สุด
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังมื้อเที่ยง ไม่ดื่มเบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายใน6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ทำห้องนอนของคุณให้เงียบสงบ มืด และอากาศเย็นสบายถ่ายเทสะดวก กำจัดสิ่งรบกวนในบริเวณห้อง หรือย้ายที่พักไปสู่สภาพแวดล้อมที่สงบ สบาย และน่าอยู่อาศัย
- หากนอนไม่หลับไม่พยายามกดดันตัวเองเพื่อให้นอนหลับ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงเป็นความวิตกกังวลและทำให้นอนหลับยากยิ่งขึ้น
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและมีประโยชน์ทางโภชนาการ งดรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ -แต่ควรเว้นระยะการออกกำลังกายให้ห่างจากการเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนหลับยากมากยิ่งขึ้น
- ลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน เปลี่ยนมุมมองใหม่ให้ชีวิต คิดในแง่บวก มองหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว