รสชาติอาหารก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย นั่นก็คือรสจัด ที่ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวบ้านเราต้องหาทานกัน ด้วยรสชาติอาหารที่ครบรสทำให้เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติและคนไทยอย่างเรา ๆ แต่การกินอาหารรสจัดเช่นเค็มจัดนั้น หากกินติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน หรือใครที่ชื่นชอบรสเค็มเวลาทานข้าวต้องมีน้ำปลาไว้ข้างจานตลอด ต้องระวังเรื่องสุขภาพ เพราะหากเราทานเค็มเป็นประจำ จนทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อความดันโลหิต และอาจนำไปสู่ความผิดปกติและโรคที่ร้ายแรง
โรคที่เกิดจากการกินอาหารรสเค็มจัด
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
การที่เราได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินความต้องการ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจร้อยละ 49 โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตร้อยละ 62 ของการเกิดโรคทั้งหมด
- โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
เมื่อเราทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำทุก ๆ วันสะสมไปเรื่อย ๆ โซเดียมจะเข้าสู่ร่างกายและปะปนในเลือดทำให้เลือดเสียสมดุล หลอดเลือดจึงพยายามดูดน้ำเข้ามาเจือจางโซเดียม จนทำให้แรงดันเลือดสูงขึ้น เมื่อความดันโลหิตสูงก็จะส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้น และเสี่ยงที่จะหัวใจวายไปจนถึงเส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลยทีเดียว
- โรคความดันโลหิตสูง
การที่เราได้รับโซเดียมเป็นประจำ โซเดียมมีความสัมพันธ์กับความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่โรคอื่น ๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน
- โรคอ้วน
การทานอาหารรสจัดจะทำให้เราทานอาหารได้มากขึ้น รสชาติเค็มจะเร่งการผลิตโดปามีนซึ่งเป็นสารเคมีในสมองส่งผลต่ออารมณ์ความพึงพอใจ ความสุข ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อติดรสเค็มแล้วหากไม่ได้กินเค็มก็จะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย
- โรคไตวายเรื้อรัง
การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูง ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อไตซึ่งเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่กำจัดโซเดียม ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจากการทำงานหนัก ทำให้ไตเสื่อมด้วยซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุจากการได้รับโซเดียมในปริมาณสูง
โดยปกติร่างกายคนเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หากคุณระวังในเรื่องของความเค็มในมื้ออาหารแล้ว อย่าลืมดูอาหารชนิดอื่นด้วย เช่นพวกขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ การลดพฤติกรรมกินเค็มอาจส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต ลองมาดูวิธีที่จะช่วยลดการได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายเกินปริมาณกัน
- หากคุณต้องซื้อออาหารกึ่งสำเร็จหรือขนมขบเคี้ยวควร อ่านฉลากอาหาร และเลือกซื้ออาหารที่มีโซเดียมต่ำ
- เลือกทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงแทน อย่างมันฝรั่ง มันหวาน กล้วย แคนตาลูป หรือผักป่วยเล้ง เนื่องจากโพแทสเซียมอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ
- ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศแทนเกลือเมื่อปรุงอาหาร เช่น กระเทียม ยี่หร่า พริก และใบมะกรูด เป็นต้น
- ลดการเติมเครื่องปรุงที่มีโซเดียม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม และผงชูรส เป็นต้นรวมถึงอาหารที่มีน้ำจิ้มเป็นเครื่องเคียง ปรุงอาหารให้มีรสชาติกลาง ๆ
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป ไม่ว่าเป็นอาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลาร้า ซึ่งควรหันมาทำอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทำเองซึ่งจะได้ประโยชน์จากสารอาหารมากกว่า
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดทุกชนิด ไม่ว่าจะเผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารขยะ ขนมขบเคี้ยว เนื่องจากมีโซเดียมและไขมันทรานส์ในปริมาณสูง จะทำให้เกิดการสะสมเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตามมา
ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกินเค็มอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และผู้ที่มีความเสี่ยงกว่าคนปกติทั่วไปคือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
ดังนั้นหากเราลดพฤติกรรมกินเค็มได้ จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงของโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายได้ หันมา กินผักผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้น้ำจะได้ชะล้างในร่างกาย พร้อมกับหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ทำเป็นประจำสุขภาพก็จะดีห่างไกลโรคร้าย