จากใจทาสแมว แต่.. แพ้ขนแมว
ทาสแมวทั้งหลายที่เป็นโรคภูมิแพ้ฟังทางนี้ ใจก็อยากเลี้ยงแมวแทบแย่แต่ดันมา แพ้ขนแมว แล้วจะเลือกอะไรดี หลายๆคนคงประสบกับปัญหาที่ไม่ว่าจะเลี้ยงเจ้าขน หรือสัตว์เลี้ยงประเภทไหน ก็มักมีปัญหาจาม ไอ คัดจมูก บางครั้งตาบวม น้ำตาไหลทุกที แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะลดอาการและเลี้ยงน้องแมวผู้น่ารักต่อไปได้กันนะ
สาเหตุ แพ้ขนแมว
สาเหตุการแพ้นั้นมีปัจจัยส่งเสริมหลายสาเหตุ ขึ้นกับว่าเรามีความจำเพาะต่อสารชนิดใด บางคนอาจแพ้เกษรดอกไม้ แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์ หรืออาจจะแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล เป็นต้น ซึ่งสาเหตุการแพ้ที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบได้ แต่การแพ้ขึ้นอยู่กับสารโปรตีนในสิ่งที่แพ้ อย่างขนแมว หรือขนสุนัขนั้น จะมีสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่กับน้ำลายและขนของมัน เรียกว่า Felis domesticus allergen 1 หรือเรียกสั้นๆว่า Fel d 1 ที่อยู่บริเวณผิวหนังของแมวนั้นเอง และเมื่อแมวเลียขนของมันก็จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศ ติดเสื้อผ้า สูดเอาขนเอข้าไปจึงทำให้เกิดการแพ้ตามมา ด้วยความที่สาร Fel d 1 ของแมวมีขนาดเล็กกว่าขนสุนัขมากจึงทำให้เราแพ้ขนแมวมากกว่าขนสุนัขนั่นเอง
อาการ แพ้ขนแมว
อาการ แพ้ขนแมว ดูได้จาก อาการไอ คัดจมูก จาม ทุกครั้งที่มีแมวอยู่ใกล้ หรือแม้กระทั้งไม่ได้อยู่กับแมว แต่อยู่กับสภาพแวดล้อมที่แมวเคยอยู่ คนที่อุ้มแมว ก็ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ เมื่อเป็นมากขึ้น จะทำให้เยื่อบุอ่อนๆบริเวณรอบดวงตาบวม น้ำตาไหลง่าย มีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า คอ และตามร่างกาย ไปจนถึงแพ้รุนแรง คือหายใจเหนื่อยหอบ หลอดลมหดเกร็ง หน้ามืด และอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
การสังเกต และ การดูแล
หากเริ่มมีอาการแพ้ขนแมว เราควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการแพ้ขั้นรุนแรง หากเริ่มไอ คัดจมูกจามมากขึ้น ให้รีบออกมาจากสถานที่นั้นๆ มายังที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ล้างมือเพื่อให้ขนแมวหรือน้ำลายที่ติดสาร Fel d 1 หลุดออกมาให้เยอะที่สุด เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ เช็ดทำความสะอาดห้องที่อยู่ หากมีพรมที่ห้องควรนำมาสลัดออกและตากแดดเป็นการกำจัดไรฝุ่นไปในตัวได้อีกด้วย ทำความสะอาดขนแมว เช่น การอาบน้ำสัปดาห์ละครั้ง หรือการเช็ดทำความสะอาดขนแมวสม่ำเสมอ และไม่ควรนำแมวไปเลี้ยงในห้องนอนของเราเอง เป็นต้น
ขั้นตอน รักษา แพ้ขนแมว
การรักษาทางการแพทย์ ของอาการ แพ้ขนแมว จะเป็นโดยวิธีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ด้วยวิธี Skin Prick Test : SPT เพื่อตรวจดูว่าเราแพ้สารชนิดใด เพื่อหาสาเหตุและรักษาให้ตรงจุด การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการแพ้ชั่วขณะ อย่างอาการจาม คัดจมูก ไอ โดยแพทย์จะจ่ายยาร่วมกับยารับประทานแก้แพ้ หรือยาหยอดแก้แพ้ หากว่าใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาเรื่องการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละนิดเพื่อให้ร่างกายปรับตัวและมีภูมิต้านทานต่อสารภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งต้องเฝ้าระวังการแพ้ที่รุนแรงในขณะที่ฉีดสารเข้าไปอย่างใกล้ชิด
Source : aafa.org