โวหารการเขียนวิธีต่างๆ รวมไปถึงประเภทการเขียนโวหารทั้งหมด

การเขียนถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สามารถบ่งบอกเรื่องราว และจินตนาการที่ผู้เขียนใส่ลงไปเพื่อให้ผู้อ่านสามารถสัมผัสถึงข้อมูล เรื่องราว และข่าวสารต่างๆ ผ่านรูปแบบการเขียนประเภทต่างๆ ซึ่งการเขียนถือว่าการแสดงออกทางความคิดประเภทหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต

โดยสิ่งที่จะสามารถสะท้อนการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของเนื้อหาได้มากที่สุดก็คือการเลือกใช้โวหารเข้ามาถ่ายทอดความหมาย และความรู้สึก ที่ผู้อ่านจะรับรู้ได้ผ่านตัวอักษร และเพื่อเป็นการเพิ่มข้อมูลของความหมายที่แท้จริงของการเขียน วันนี้จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ โวหารการเขียนวิธีต่างๆ รวมไปถึงประเภทการเขียนทั้งหมดว่ามีกี่ประเภท

ความหมายของคำว่า โวหาร

สำหรับคำว่า โวหาร คือสำนวน และถ้อยคำที่นำมาใช้ประกอบการเขียน รวมไปถึงการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะการถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกผ่านตัวอักษรจนทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และมีอารมณ์ร่วมตามวัตถุที่ต้องการสื่อออกไป

โดยที่สามารถจำแนกสำนวน และวิธีการเขียนต่างๆ ได้หลายรูปแบบ แต่ละแบบก็จะมีลักษณะเฉพาะตัว รวมไปถึงความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าทุกคนสามารถศึกษาวิธีการเขียน หรือโวหาร เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มสกิลการเขียน วิธีการเขียน และรูปแบบการเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเองได้

ประเภทของโวหาร มีอะไรบ้าง

สำหรับคำว่า โวหาร ในภาษาไทยจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทหลักๆ ที่จะมีลักษณะใจความที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่ารูปแบบคำอธิบาย และวิธีการถ่ายทอดก็แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกัน ได้แก่ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหาร และอุปมาโวหาร แต่ละประเภทก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้

  • บรรยายโวหาร หมายถึง สำนวนที่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยละเอียด
  • พรรณนาโวหาร หมายถึง สำนวนที่เขียนให้เห็นภาพ หรือเกิดความรู้สึกร่วม
  • เทศนาโวหาร หมายถึง สำนวนเขียนเพื่อการสั่งสอน
  • สาธกโวหาร หมายถึง สำนวนที่เขียนเพื่อการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
  • อุปมาโวหาร หมายถึง สำนวนที่เขียนใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ

สำหรับประเภทโวหารทั้ง 5 ประเภท ล้วนเป็นการสื่อสารความหมายที่มาในรูปแบบการเขียน ที่ก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังเกิดความเข้าใจถึงเนื้อหาได้โดยตรง และเพื่อเป็นการอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเห็นภาพ และเข้าใจความหมายของโวการประเภทต่างๆ ให้มากขึ้น จึงขออธิบายรายละเอียดถึงรูปแบบ วัตถุประสงค์ รวมไปถึงตัวอย่างโวหารประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

บรรยายโวหาร

สำหรับบรรยายโวหารจะเป็นการเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง หรือเรื่องสมมติ โดยที่จะมีลักษณะการเขียนที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายของเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างบรรยายโวหาร “ช้างยกขาหน้าให้ควานเหยียบขึ้นนั่งบนคอ ตัวมันสูงใหญ่ ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบน เรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้า และข้าวห่อใบตองขึ้นไปให้เขา”

(แหล่งอ้างอิง : นิคม รายยวา : ตลิ่งสูงซุงหนัก)

พรรณนาโวหาร

สำหรับพรรณนาการโวหาร จะเป็นการเขียนเรื่องราวต่างๆ ของคน สิ่งของ และอารมณ์ ที่จะใส่รายละเอียดลงไปภายในเนื้อหาโดยการสอดแทรกความรู้สึกของผู้เขียนลงไป เพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังเกิดอาการคล้อยตาม ส่งผลให้พรรณนาโวหารจะมีความโดดเด่นในเรื่องรูปแบบการเขียนที่จะมีสำนวนที่ไพเราะ เพลิดเพลิน และเข้าถึงความรู้สึกของผู้อ่านได้ดีกว่าการบรรยายแบบทั่วไป

ตัวอย่างพรรณนาการโวหาร “ดอกจันทน์กระพ้อร่วงพรูแต่มิได้หล่นลงสู่พื้นดินทีเดียว เกสรเล็ก ๆ แดงเรี่อแกมเหลือ ลอยว่อนกระจัดพรัดพรายอยู่ในอากาศที่โปร่งสาดหน่อยหนึ่ง เหมือนลวดลายของตาข่ายที่ คลุมไตรพระ กลีบและเกสรอาจจะตกลงถูกเหยียบเป็นผุยผงไป”

(แหล่งอ้างอิง : แม่อนงค์ : แผ่นดินของเรำ)

เทศนาโวหาร

สำหรับเทศนาโวหาร จะเป็นการเขียนเพื่อมุ่นเน้นในเรื่องการสอนคุณธรรม หรือจรรโลงใจโดยตรง ซึ่งจะใส่คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังเกิดความเห็ใจ เห็นมุมมองที่แตกต่างของสิ่งที่เหมือนกัน หรือตรงกับข้ามกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านประโยชน์ หรือโทษ แน่นอนว่าด้วยรายละเอียดของเนื้อหาจึงทำให้การเขียนเทศนาโวหารนั้นจะมีความยากกว่าโวหารประเภทอื่นๆ

ตัวอย่างเทศนาโวหาร “ถ้ำไม่มีคุณธรรมเป็นสิ่งจรรโลงจิตใจ คนเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัตว์ป่า…เราคงจะมาฉกฉวยแย่งชิงสิ่งที่เราอยากได้โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งนั้นจะมีใครเป็นเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว หรือไม่ ผู้ใหญ่ก็ข่มเหงรังแกผู้น้อย หรือคนที่อ่อนแอกว่าตามอำเภอใจ ลูกหลานจะดูหมิ่นดู แคลนพ่อแม่ที่แก่เฒ่าให้ได้รับความทุกข์ยากร้อนใจ”

(แหล่งอ้างอิง : ประภัสสร เสวิกุล : ลอดลายมังกร)

สาธกโวหาร

สำหรับสาธกโวหาร จะเป็นการเขียนโดยการหยิบยกเอาตัวอย่างมาประกอบคำอธิบาย เพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดของผู้เขียนให้มีความหนักแน่น และน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นจะสามารถส่งสารความต้องการไปยังผู้อ่าน หรือผู้ฟังได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเราจะสามารถเห็นสาธกโวหารเข้าไปสอดแทรกอยู่ภายในโวหารอื่นๆ มากมาย เพราะเป็นโวหารเสริมนั่นเอง

ตัวอย่างสาธกโวหาร “คนเราต้องเอาอย่างมดอย่าไปเอาหนอน เพราะมดนั้นถึงมันจะตัวเล็กนิดเดียวแต่ ก็ขยันขันแข็ง สามารถลากเหยื่อชิ้นใหญ่ ๆ ได้สบาย แต่ถึงกระนั้นมันก็กลับกินอาหาร แต่น้อยจนเอวคอดกิ่ว ผิดกันกับหนอน ซึ่งเกียจคร้านเอาแต่กินทั้งวันโดยไม่ทำงานทำการอะไรจนตัวอ้วนอุ้ยอ้าย ผลสุดท้ายก็กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของนกปลา”

(แหล่งอ้างอิง : เจ้าพระยาพระคลังหน : สามก๊ก)

อุปมาโวหาร

สำหรับอุปมาโวหาร จะเป็นการเขียนโดยการหยิบยกเอาสำนวนมาเป็นตัวเปรียบเทียบ เพื่อให้เนื้อหามีภาพ และความหมายที่ชัดเจน ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในการเชื่อถือของผู้อ่าน หรือผู้ฟัง ซึ่งการเขียนในลักษณะของอุปมาโวหาร จะมีความคล้ายคลึงกับสาธกโวหาร แต่จะมีความชัดเจนมมากกว่าตรงที่นำเรื่องราวมาเปรียบเทียบกับอย่างละเอียด แต่กระชับ และได้ใจความ

ตัวอย่างอุปมาโวหาร “ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณ ย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน”

(อ้างอิง : เสถียรโกเศศ และนาคะประทีป : หิโตปเทศ)

บทสรุปความหมาย และความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเขียนโวหาร

จะเห็นได้ว่าโวหารประเภทต่างๆ จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเขียน วิธีการคิด การนำเสนอความรู้สึก และการถ่ายทอดเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่หลักๆ แล้วทั้ง 5 รูปแบบก็จะมีความหมายเดียวกันนั่นก็คือ เสริมความมั่นคง มั่นใจ และความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้อ่านสามารถสัมผัสเนื้อหาได้โดยตรง

ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกนำเอาโวหารประเภทต่างๆ มาใช้ประกอบความคิดก็จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เขียน เพราะฉะนั้นถ้าหากใครที่มีความตั้งใจอยากเป็นนักเขียน การศึกษาโวหารประเภทต่างๆ อย่างลึกซึ้งจะช่วยให้วิธีการเขียน และรูปแบบการเขียนมีความโดดเด่น และเด่นชัดเพิ่มขึ้นได้นั่นเอง