หลายคนมีปัญหากับอาการง่วงนอนในตอนกลางวันและรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเมื่อปัญหาเกิดอย่างต่อเนื่องและเริ่มเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวัน ก็ถึงเวลาที่จะต้องจัดการแก้ไข
อาการง่วงทั้งวันและเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องปกติที่ NHS ได้ย่อว่า TATT ย่อมาจาก “เหนื่อยตลอดเวลา (tired all the time)“ ซึ่งมีหลายปัจจัย ตั้งแต่การนอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียดไปจนถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ แต่ในกรณีส่วนใหญ่ สามารถแก้ไขได้ง่ายด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่าง
ขั้นตอนแรกในการจัดการกับความเหนื่อยล้ามากเกินไปคือ การทำความเข้าใจว่าเหตุใดคุณจึงประสบกับความเหนื่อยล้าและง่วงทั้งวัน เนื่องจากสิ่งนี้จะช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างความง่วงนอนและความรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะขอเสนอ สาเหตุที่เป็นไปได้ 12 ประการ พร้อมวิธีการแก้ไขจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจาก ดร.รวินา ภาโนต ผู้ก่อตั้ง Zonas Fertility
1. งดอาหารหรือทานมากเกินไป การเว้นช่วงเวลาทานอาหารนานอาจหมายความว่าร่างกายไม่ได้รับแคลอรีในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อรักษาพลังงาน ทั้งยังอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง
ดร.ราวินา แนะนำว่า อย่าข้ามมื้ออาหารและทานของขบเคี้ยวที่ช่วยเพิ่มพลังงานเพื่อสุขภาพระหว่างมื้ออาหาร เช่น กล้วย ถั่ว แครกเกอร์ธัญพืชไม่ขัดสี แท่งโปรตีน และผลไม้
อีกทั้งดร.ราวินายังเตือนว่า การทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงอาจส่งผลให้มีพลังงานสูงตามมาด้วยอาการเหนื่อยล้าอย่างรวดเร็ว
2. การขาดวิตามิน การเหนื่อยตลอดเวลาอาจเป็นสัญญาณของการขาดวิตามินได้เช่นกัน ไม่ว่าจะวิตามินดี วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม หรือโพแทสเซียมในระดับต่ำ
โดยการตรวจเลือดเป็นประจำจะช่วยระบุข้อบกพร่องได้ เมื่อตรวจพบแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ทานอาหารเสริมหรือเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีวิตามินสูงบางชนิด เพื่อแก้ไขการขาดสารอาหารตามธรรมชาติ
ตัวอย่างเช่น การทานหอย เนื้อวัว และตับอาจลดภาวะขาด B-12 ได้ ในขณะที่การขาดวิตามินดีสามารถแก้ไขได้ด้วยการสัมผัสกับแสงแดดมากขึ้น โดยปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันในผู้ใหญ่คือ 600IU
3. นอนไม่หลับ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการการนอนหลับระหว่าง 7 – 9 ชั่วโมงในแต่ละคืน ดังนั้น ควรเริ่มฝึกนิสัยการนอนหลับให้ดีขึ้น
ดร.ราวินา แนะนำว่า พยายามนอนให้ตรงเวลาทุกวัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้น เช่น ออกกำลังกาย ดูทีวีก่อนนอน ซึ่งการฝึกสติ การหายใจ และโยคะได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์
4. บนเตียงร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะอากาศร้อนหรือเย็นเกินไปอาจทำให้คุณรู้สึกสดชื่นน้อยลงในตอนเช้า โดยอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์จะสูงขึ้นตามธรรมชาติในช่วงเย็นและจะลดลงเมื่อนอนหลับ ดังนั้น ควรระวังและปรับรูปแบบอุณหภูมิให้เหมาะสม
5. ออกกำลังกายมากเกินไป แม้ว่าการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มระดับพลังงาน หลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน และแก้ปัญหาสุขภาพจิต แต่อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าและง่วงนอนได้ ดร.ราวินาแนะนำว่า ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น
6. น้ำหนักเกิน หากใครประสบภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน ความเหนื่อยล้าและง่วงนอนบ่อย ๆ ในแต่ละวันอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่จะต้องวางแผนลดน้ำหนัก
โดยดร.ราวินาไม่แนะนำให้เข้าสู่การออกกำลังกายที่จริงจังในทันทีเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าผลดี เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเบา ๆ เช่น การเดินหรือว่ายน้ำแล้วค่อย ๆ ขยับไปสู่การออกกำลังกายที่หนักหน่วง
7. ความเครียดเรื้อรังอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ปัญหาในกระเพาะอาหาร และความเหนื่อยล้า เนื่องจากคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อพลังงานสำรองของร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อย ดังนั้น การเรียนรู้วิธีควบคุมความเครียดจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเอาชนะความอ่อนล้าอย่างต่อเนื่อง
8. ภาวะซึมเศร้า เมื่อรู้สึกหดหู่และขาดพลังงาน ความเหนื่อยล้าก็จะตามมา แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดหากมีภาวะซึมเศร้าคือ ปรึกษาแพทย์ ดร.ราวินายังชี้อีกว่า โรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล (SAD) ที่มักพบในช่วงฤดูหนาวจะผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่าเมลาโทนิน ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น
9. ยาบางชนิด หากคุณเริ่มใช้ยาครั้งแรก ลองสังเกตอาการง่วงนอนในตอนกลางวัน จากนั้นตรวจสอบฉลาก เพื่อดูว่าอาการเหนื่อยล้าและง่วงนอนเป็นผลข้างเคียงหรือไม่
10. ความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะร้ายแรงที่สมองและร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอในตอนกลางคืน ซึ่งนำไปสู่ความเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน แถมยังก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย
11. โรคต่าง ๆ เป็นหนึ่งในภาวะที่อาจทำให้เหนื่อยล้า เช่น โรคโลหิตจาง ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ วัยหมดประจำเดือน โรคเบาหวาน โรคช่องท้อง โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง โรคไฟโบรมัยอัลเจีย และการติดเชื้ออื่น ๆ
ดร.ราวินากล่าวว่า “หากคุณรู้สึกเหนื่อยล้ามาเกิน 2 – 3 เดือน ซึ่งไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า คุณควรปรึกษาแพทย์”
12. อุณหภูมิสูง ดร.ราวินาให้เหตุผลที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักสำหรับอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากความร้อนสูงเกินไป
“การเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นในฤดูหนาวอาจทำให้รู้สึกดีและอบอุ่น ทว่าอาจทำให้รู้สึกว่านอนหลับไม่เพียงพอ การศึกษาแนะนำว่า อุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับการนอนหลับคือ 20 – 22 องศาเซลเซียส”